สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

คู่มือการชำระภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ

คู่มือการชำระภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ

องค์การบริหารส่วนตำบลแตล 

ตำบลแตล  อำเภอศีขรภูมิ  จังหวัดสุรินทร์

 

          องค์การบริหารส่วนตำบลแตล  มีการจัดเก็บภาษีต่างๆ  เช่น  ภาษีบำรุงท้องที่  ภาษีโรงเรือนและที่ดิน  ภาษีป้าย  ค่าธรรมเนียมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ  ซึ่งภาษีแต่ละชนิดมีความหมายและมีวิธีการรวมทั้งขั้นตอนการเสียภาษี  ดังต่อไปนี้

1.  ภาษีบำรุงท้องถิ่น

1.1  กำหนดระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี

          ตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่  พ.ศ.  2508  กำหนดให้เจ้าของที่ดิน  ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการต่อพนักงานประเมิน  ณ  ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลแตล  หรือหน่วยงานบริการเคลื่อนที่ตามกำหนด  ภายในเดือน  มกราคมของปี  แบบแสดงรายการที่ได้ยื่นไว้นั้นใช้ได้ทุกปี  ในรอบระยะเวลา  4  ปี  มีการรับแจ้งยื่นแบบประเมินภาษีในรอบระยะเวลา  4  ปี  จะต้องมีการยื่นแบบครั้งแรกของปีแรก  หากไม่ยื่นภายในกำหนด  เจ้าของที่ดินจะต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ  10  ของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษี  กรณีบุคคลใดเป็นเจ้าของที่ดินขึ้นใหม่  หรือจำนวนที่ดินเปลี่ยนแปลงไป  เจ้าของที่ดินต้องยื่นแบบแสดงรายการที่ดินภายใน  30  วัน  นับตั้งแต่วันที่เป็นเจ้าของที่ดินขึ้นใหม่  หรือนับแต่วันที่จำนวนที่ดินเพิ่มขึ้น

1.2  อัตราโทษและค่าปรับ

ผู้ใดละเลยแบบแสดงรายการ  มีความผิดโทษปรับไม่เกิน  200  บาท  และเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง  2  ปี

ผู้ใดยื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่สมบูรณ์  มีความผิดต้องระวางโทษจำคุก  หรือปรับไม่เกิน  500  บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับและเรียกเก็บภาษีย้อนหลังไม่เกิน  5  ปี

กำหนดระยะเวลาการชำระภาษี

1.3  เอกสารที่ใช้ประกอบในการเสียภาษี

          1.  บัตรประจำตัวประชาชน

          2.  สำเนาทะเบียนบ้าน

          3.  หลักฐานที่แสดงความเป็นเจ้าของที่ดิน

          4.  ใบเสร็จการเสียภาษีครั้งสุดท้าย

          5.  หนังสือมอบอำนาจ

2.  ภาษีโรงเรือนและที่ดิน

          2.1  ความหมาย  และกำหนดระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี

          ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน  พ.ศ.  2475  กำหนดให้ผู้เป็นเจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ  กับที่ดินที่ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น  และในปีที่ผ่านมาได้มีการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินนั้น  เช่า  ให้เช่า  ใช้เป็นที่ทำการค้าขาย  ที่ไว้สินค้าประกอบอุตสาหกรรมให้ญาติ  บิดา  มารดา  บุตร  หรือผู้อื่นอยู่อาศัย  หรือประกอบกิจการอื่นๆ  เพื่อเป็นการหารายได้  (เชิงการค้า  ทำรายได้)  มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการทรัพย์สิน  ณ  ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลแตล  ตั้งแต่เดือน  มกราคม – กุมภาพันธ์  หากไม่ยื่นภายในกำหนด  ต้องเสียค่าปรับไม่เกิน  200  บาท

          2.2  เอกสารในการยื่นชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน

                   1.  สำเนาทะเบียนบ้าน/บัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีหน้าที่เสียภาษี

                   2.  สำเนาโฉนดที่ดิน – สัญญาซื้อขายโรงเรือน

                   3.  ใบเสร็จรับเงินค่าภาษีโรงเรือนปีที่ผ่านมา

          2.3  อัตราโทษและค่าปรับ

          ผู้มีหน้าที่เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน  เมื่อได้รับแจ้งการประเมินแล้ว  จะต้องนำเงินค่าภาษีไปชำระภายใน  30  วัน  นับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับการแจ้งประเมิน  มินั้นจะต้องเสียภาษีเพิ่ม  ดังนี้

          1.  ถ้าชำระไม่เกิน  1  เดือน  นับแต่วันที่พ้นกำหนดให้เพิ่มร้อยละ  2.5  ของค่าภาษีที่ค้าง

          2.  ถ้าเกิน  1  เดือน  แต่ไม่เกิน  2  เดือน  ให้เพิ่มร้อยละ  5  ของค่าภาษีที่ค้าง

          3.  ถ้าเกิน  2  เดือน  แต่ไม่เกิน  3  เดือน  ให้เพิ่มร้อยละ  7.5  ของค่าภาษีที่ค้าง

          4.  ถ้าเกิน  3  เดือน  แต่ไม่เกิน  4  เดือน  ให้เพิ่มร้อยละ  10  ของค่าภาษีที่ค้าง

                   ผู้ใดละเลยไม่ปฏิบัติตามหมายเลขเรียกของพนักงานเจ้าหน้าที่  ไม่ให้ความร่วมมือการแจ้งรายละเอียดในเรื่องใบแจ้งรายการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน  500  บาท

                   ผู้ใดแจ้งความเท็จ  หรือนำพยานหลัดฐานเท็จมาแสดง  เพื่อหลีกเลี่ยงการชำระภาษีต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน  6  เดือน  หรือปรับไม่เกิน  500  บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

          2.4  การอุทธรณ์การประเมินภาษี

                   เมื่อผู้เสียภาษีได้รับแจ้งการประเมินแล้ว  ไม่พอใจในการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่  ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์  ได้โดยการยื่นแบบ  ภงด.9  ภายใน  15  วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน  และเมื่อได้รับการแจ้งผลการชี้ขาดแล้วยังไม่เป็นที่พอใจก็มีสิทธินำเรื่องร้องต่อศาลได้ภายใน  30  วัน  นับแต่วันที่ได้รับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาด

3.  ภาษีป้าย

          ตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย  พ.ศ.  2510  กำหนดให้ผู้เป็นเจ้าของป้าย  ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีป้าย  ตั้งแต่วันที่  1  มกราคม  ถึง  สิ้นเดือน  มีนาคม  ณ  ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลแตล

          3.1  การกำหนดชำระภาษี  นับจากได้รับแจ้งการประเมินภายใน  15  วัน

          กรณีที่มีการประเมินภาษีป้าย  ตั้งแต่  3,000  บาท  เป็นต้นไป  ผู้เสียภาษีสามารถขอผ่อนชำระเป็นงวดๆเท่าๆกันไป  แต่ต้องยื่นคำขอผ่านชำระก่อนครบกำหนดเวลาที่ต้องชำระภาษี

          การชำระภาษีเกินกำหนดเวลา  หรือยื่นแบบเกินกำหนดต้องเสียเงินเพิ่ม  ตามที่กฎหมายกำหนด

          การประเมินภาษีป้าย  ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง  ฉบับที่  5  (พ.ศ.  2535)

                   1.  ป้ายที่อักษรไทยล้วน  คิด  3  บาทต่อ  500  ตร.ซม.

                   2.  ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ  หรือ  ปนกับภายและ/หรือเครื่องหมายอื่นใด  ให้คิด  20  บาทต่อ  500  ตร.ซม.

                   3.  ป้ายดังต่อไปนี้ให้คิด  40  บาท  ต่อ  500  ตร.ซม.

                             -  ป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วน  หรือทั้งหมดอยู่ไต้  หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ

                             -  ป้ายตามข้อ  1,2  และ  3  เมื่อคำนวณพื้นที่ของป้ายแล้ว  ถ้ามีอัตราต้องเสียภาษีต่ำกว่า  200  บาท  ให้เสียภาษีป้ายละ  200  บาท

4.  ค่าธรรมเนียมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

          ตามข้อบังคับว่าด้วย  เรื่อง  การควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ  พ.ศ.  2542  ตาม  พรบ.  สาธารณสุข  พ.ศ.  2535  กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการต่างๆตามที่กฎกระทรวงกำหนด  (ขอดูประเภทได้  ณ  ที่ทำการ  อบต.แตล)

          ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการ  ณ  ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลแตล

          ใบอนุญาตประกอบกิจการมีอายุ  1  ปี  ก่อนครบกำหนดจะต้องยื่นทำการยื่นขอต่อใบอนุญาต  และชำระค่าธรรมเนียมก่อน  ถ้ายื่นเกินกำหนดต้องชำระเงินเพิ่มเติมตามที่กฎหมายกำหนด

          4.1  เอกสารประกอบในการยื่นชำระภาษีกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

                   1.  บัตรประจำตัวประชาชนพร้อมสำเนาทะเบียนบ้านของผู้อนุญาต

                   2.  บัตรประจำตัวประชาชนพร้อมสำเนาทะเบียนบ้านผู้จัดการ  หากไม่เป็นบุคคลเดียวกันกับผู้อนุญาต

                   3.  สำเนาทะเบียนบ้านของบ้านที่ใช้เป็นที่ตั้งสถานประกอบการ

                   4.  สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลพร้อมแสดงบัตรประจำตัวประชาชนของผู้แทนนิติบุคคล  (กรณีผู้ขอเป็นนิติบุคคล)

                   5.  สำเนาใบอนุญาตปลูกสร้างอาคารที่ใช้แสดงว่าอาคารที่ใช้เป็นสถานที่ประกอบการ  สามารถใช้ประกอบการนั้นได้โดยถูกต้องตามกฎหมายควบคุมอาคาร

                   6.  หนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน  ผู้มอบและผู้รับมอบ  (กรณีผู้ขอรับใบอนุญาตไม่สามารถดำเนินการด้วยตนเอง)  ตัวอย่างกิจการในพื้นที่  อบต.แตล  ควบคุม

                             -  การเลี้ยงสัตว์  เช่นไก่  เป็ด  หมู

                             -  โรงกลึง  เชื่อม  โลหะ  คอนกรีต

                             -  กิจการรับพ่นสี  เคาะ  ปะผุ

                             -  กิจการเกี่ยวกับไม้

                             -  อื่นๆ   

         

 

Tags :

view